สอนลูกเรื่องกลางวัน กลางคืน
ผู้เขียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุบผา เรืองรอง
การสอนลูกเรื่องกลางวัน
กลางคืน (Teaching Children
about Day and Night) หมายถึง
การจัดกิจกรรมให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้
และเห็นถึงสภาพธรรมชาติที่มีกลางวันซึ่งเป็นระยะเวลาตั้งแต่ย่ำรุ่งถึงย่ำค่ำ
หรือตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตก
และกลางคืนซึ่งหมายถึงระยะเวลาตั้งแต่ย่ำค่ำถึงย่ำรุ่ง
หรือตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนพระอาทิตย์ขึ้น สลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทุกวันๆ
ในยามกลางวันคนเราจะเห็นสิ่งต่างๆ จะรู้สึกอบอุ่นและร้อน
ตามลำดับเวลาที่ดวงอาทิตย์เปลี่ยนตำแหน่ง เห็นท้องฟ้าสว่าง
มีก้อนเมฆเคลื่อนไปบนท้องฟ้า จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับหายไปจากขอบฟ้า
คนเราจะเห็นดวงจันทร์ และดวง ดาวมาแทน อากาศรอบตัวเราจะค่อยๆเย็นลง
เราจะรู้สึกหนาว จะเข้าไปอยู่ในบ้านเพื่อความอบอุ่น ท้องฟ้าจะมืด
เด็กๆได้ไปโรงเรียนในเวลากลางวัน และได้เล่นสนุกสนาน แต่ในเวลากลางคืน
ทุกคนจะนอนหลับพักผ่อน ความมืดทำให้เรามองอะ ไรไม่เห็นหรือไม่ชัดเจน
เด็กๆมักกลัวความมืด กลัวสัตว์บางชนิดส่งเสียงมาโดยเราไม่เห็นตัวมัน
เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในชีวิต ประจำวันของคนเราทุกคน
สภาพกลางวันกลางคืนเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกวัน และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคน
พืช สัตว์ จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กที่เด็กๆควรเรียนรู้ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
พุทธศักราช 2546 จึงกำหนดไว้ในโครงสร้างของหลักสูตร
ให้เด็กปฐมวัยได้เรียนสาระเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตัวเด็ก
ซึ่งเรื่องกลางวัน กลางคืน เป็นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับธรรมชาติดังที่กล่าวมา
ที่ควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่เด็กปฐมวัย
การสอนเรื่องกลางวัน กลางคืน มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร
-การเรียนรู้เรื่องกลางวัน กลางคืน
จะเป็นการตอบสนองธรรมชาติของเด็กปฐมวัย
ที่สนใจใคร่รู้เรื่องราวธรรมชาติและสิ่งต่างๆรอบตัว
เราจะสังเกตเห็นว่าเด็กจะร่าเริงเบิกบาน เมื่อเขาวิ่งเล่นกลางแสงแดดอุ่นๆ
ฟังเสียงนกร้อง และเล่นทำเสียงเลียนแบบได้ เด็กจะพอใจที่ได้เห็นสรรพสิ่งทั้งหลาย
และได้สัมผัสสิ่งเหล่านั้น
จึงเป็นโอกาสทองที่ผู้ใหญ่จะสนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ธรรมชาติอย่างมีความสุข
และสนุกที่จะค้นคว้าต่อไป
-เด็กจะเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์
คือการมีเจตคติที่ดีทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การเป็นคนช่างสังเกตสภาพธรรม
ชาติของกลางวันกลางคืน รู้เหตุและผลของสิ่งที่เกี่ยวกับกลางวัน กลางคืน เช่น
กลางวันมีดวงอาทิตย์ ที่ทำให้เกิดแสง แสงเมื่อส่องกระทบตัวเราจึงเป็นเงา
เด็กจะรู้จักคิดสงสัย และถามคำถามง่ายๆเหมาะสมตามวัย
ที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ต่อไป
การที่เด็กเข้าใจและชื่นชอบธรรมชาติ
เป็นความงดงามของจิตใจที่นำไปสู่การรู้คุณค่าของธรรมชาติ
ที่จะใช้และรักษาธรรมชาติให้คงอยู่อย่างเหมาะสม
เด็กจะเกิดทักษะการแสวงหาความรู้
เพราะเด็กมีโอกาสสังเกต และตรวจสอบข้อสงสัยเรื่องกลางวัน กลางคืนที่เป็นเรื่องธรรมชาติ
ครูสอนเรื่องกลางวัน กลางคืนให้ลูกที่โรงเรียนอย่างไร
-
กิจกรรมสร้างสรรค์ ครูอาจให้เด็กระบายสีภาพเหตุการณ์ กลางวัน กลางคืน เช่น
ภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวง ดาว ท้องฟ้ายามกลางวัน หรือภาพเหตุการณ์กลางคืน
ภาพนกฮูก ค้างคาว หนูซึ่งเป็นสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืน ภาพไก่ขันยามเช้า
ภาพเด็กๆไปโรงเรียน แสดงเวลายามเช้าผ่านงาน ฉีก ตัดกระดาษอย่างอิสระ
หรือนำกระดาษรูปทรงเรขาคณิตมาออกแบบ สิ่งที่เกี่ยวกับกลางวัน กลางคืน เช่น
ตัดรูปวงกลมเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์เต็มดวง ตัดครึ่งวงกลมเป็นดวงจันทร์ครึ่งดวง
เป็นต้น
-กิจกรรมเสริมประสบการณ์
ครูอาจกำหนดสาระสำคัญเรื่องกลางวัน กลางคืน เช่น คนเราทำงานในเวลากลางวัน กลางคืน
แตกต่างตามลักษณะเวลาและสภาพที่ปรากฏ การเลือกใช้อุปกรณ์หรือสิ่งของ
ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะเวลา เช่น กลางวันที่แดดจ้าต้องสวมหมวก กางร่ม
กลางคืนอากาศเย็นต้องห่มผ้าห่ม อาจมีการทดลอง เรื่อง กลางวัน กลาง คืน
-กิจกรรมเสรี
ครูอาจจัดมุมวิทยาศาสตร์ให้เด็กได้ทดลองเรื่องกลางวันกลางคืน เช่น
ทดลองเรื่องการเกิดเงาหรือเชิดหุ่นเงา ที่เกิดจากการแสงส่องกระทบวัตถุทึบแสง
จัดมุมหนังสือเกี่ยวกับกลางวันกลางคืนให้เด็กได้อ่าน เป็นต้น
-กิจกรรมกลางแจ้ง
ให้เด็กๆได้วิ่งเล่นที่สนาม เห็นแสงแดดและสิ่งต่างๆรอบตัว เล่นเกมวิ่งเล่นจับเงา
วิ่งเหยียบเงาของเพื่อน
-กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
เมื่อครูให้สัญญาณจากเครื่องดนตรี เด็กจะเคลื่อนไหวพื้นฐาน
แล้วเคลื่อนไหวแสดงท่าทางประกอบคำบรรยายเรื่อง กลางวัน กลางคืน เช่น
กลางวันดวงอาทิตย์ดวงกลมๆ ส่องแดดจ้า ร้อนจริงๆ เด็กๆสวมหมวกเดินออกจากบ้านไป
กลางคืนวันนี้ เราเห็นดวงจันทร์กลมๆ ส่องแสงสว่างนวลตาเย็นตาดีจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น